โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)

โรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า เนื่องจากข้อเข่าเป็นข้อต่อที่มีการใช้งานมากและต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง โดยข้อเข่าเสื่อมมักพบในคนที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน แต่ปัจจุบันพบว่าโรคข้อเข่าเสื่อมในคนที่อายุน้อยลง มีมากขึ้นเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักเกิดจากการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุต่อข้อเข่าตั้งแต่อายุน้อยรวมไปถึงพฤติกรรมและการใช้งานของข้อเข่าที่ผิด ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้

    โดยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรูปร่าง และการทำงานของกระดูก เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีการสึกหรอมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้น และยังไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในข้อเข่าอีกด้วยทำให้มีอาการปวด บวม ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการรุนแรง ผิวข้อจะมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ กระดูกข้อเข่าจะเสียดสีกันมากขึ้นผู้ป่วยจะเจ็บในทุกจังหวะของการก้าวเดิน รวมไปถึงข้อเข่าจะมีอาการติดแข็งงอเหยียดได้ไม่สุด กล้ามเนื้อรอบๆข้อเข่าความแข็งแรงลดลง จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและเสี่ยงต่อการล้มของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ระยะของโรคข้อเข่าเสื่อม
ระยะที่ 1 ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ อาจมีเข่าตึงๆหรือเริ่มปวดเมื่อเปลี่ยนท่าทางในบางครั้ง
ระยะที่ 2 ทำงานหนักไม่ได้ มีปวดข้อเข่าเล็กน้อย มีเสียงและขัดในข้อเข่ามากขึ้น
ระยะที่ 3 ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ ปวดข้อเข่า ข้อติดขัด ฝืดแข็งขณะเดิน และเกิดเสียงในข้อเข่ามากขึ้น ความคล่องตัวลดลง
กล้ามเนื้อต้นขาไม่มีแรง
ระยะที่ 4 เดินไม่ไหว ปวดเข่ามาก ข้อเข่าโก่งผิดรูป เข่าแอ่นหรือเข่าชนกัน ข้อเข่าหลวมมากขึ้น กล้ามเนื้อต้นขาลีบ อ่อนแรง
ทำให้ผู้ป่วยเกิดการหกล้มได้ง่าย

การแบ่งระยะของโรคเข่าเสื่อมโดย X-ray
ระดับ ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลง
0 ไม่พบ ไม่พบ
1 สงสัย สงสัยว่าช่องข้อต่อแคบลง และมีกระดูกงอกตรงขอบข้อ
2 เล็กน้อย พบกระดูกงอกตรงขอบข้อชัดเจน และมีช่องข้อต่อแคบลงชัดเจน
3 ปานกลาง พบกระดูกงอกตรงขอบข้อจำนวนมาก ช่องข้อต่อลดลงชัดเจน
กระดูกใต้ผิวข้อแข็งขึ้นและเริ่มผิดรูป
4 รุนแรง กระดูกงอกตรงขอบข้อใหญ่ขึ้น ช่องข้อต่อแคบลงมาก
กระดูกใต้ผิวข้อแข็งและหนาขึ้น และกระดูกผิดรูปอย่างชัดเจน

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม
1.สาเหตุปฐมภูมิ
– การใช้งานข้อเข่าค่อนข้างหนัก
– กิจกรรมหรือลักษณะงานของผู้ป่วยที่ต้องใช้ข้อเข่ามากๆ  
– พฤติกรรมการใช้ข้อเข่าหนัก เช่น นั่งย่องๆบ่อยๆ นั่งพับเพียบ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น
– น้ำหนักตัวมาก (BMI >= 25 kg/m2)
– พันธุกรรม
2.สาเหตุทุติยภูมิ
– ได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า
– เคยมีการติดเชื้อในข้อเข่า
– ผิวข้อถูกทำลายจาก โรครูมาตอยด์  โรคเกาต์  โรคสะเก็ดเงิน

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม    
1.ปวดเข่า – เริ่มแรกจะรู้สึกปวดเมื่อย มีอาการตึงทั้งรอบๆเข่าหรือบริเวณข้อพับ เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณข้อเข่าเมื่อเริ่มมีการเคลื่อนไหว
ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดจะทำได้ไม่คล่องเหมือนเดิม
2.เสียงในข้อขณะเคลื่อนไหว – เสียงกรอบแกรบช่วงที่งอเข่าหรือเหยียดเข่ามากขึ้นกว่าปกติ
3.ฝืดขัดในเข่า – เมื่อกระดูกอ่อนระหว่างข้อเสียหาย หรือน้ำในข้อเข่าลดลง ก็ทำให้เกิดอาการฝืดขัดในเข่าได้
3.ข้อเข่าบวม – เมื่อเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อ จากการใช้งานหนัก หรือจากการบาดเจ็บของโครงสร้างอื่นๆ ภายในข้อเข่า
4.ข้อเข่าโก่งงอ – อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาไม่เท่ากัน และเดินลำบาก หรือบางคนอาจคลำได้กระดูกที่งอกผิดปกติรอบๆ ข้อเข้า
5.ข้อเข่ายึดติด – ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิม

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
1. การปรับชีวิตประจำวัน  
– การลดน้ำหนัก ในคนอ้วนที่มี BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร การลดน้ำหนักตัวอย่างน้อย 5% สามารถลดอาการปวดเข่าได้อย่างมีนัยสำคัญ
– หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสมต่อข้อเข่า เช่น หลีกเลี่ยงท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งยองๆ คุกเข่า พับเพียบ ยกของหนักบ่อยๆ เป็นต้น
– เลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ  เดินเร็ว  ปั่นจักรยาน เป็นต้น
– การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  เลี่ยงอาหารที่มีรสหวานหรือมันสูง รับประทานอาหารที่มีโปรตีนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เช่น เนื้อปลา ไข่ และถั่ว เป็นต้น ทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น คะน้า ข้าวโพด บรอกโคลี มะเขือเทศ  ฝรั่ง  ส้ม สัปปะรด และมะละกอ เป็นต้น
2. การรักษาโดยการใช้ยารับประทาน
ยาแก้ปวดกลุ่ม Paracetamol และยาแก้ปวดผสม เช่น Paracetamol Norgesic Nuosic เป็นต้น
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs): เช่น Ibuprofen Naproxen เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอักเสบ โรคไตวายเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจได้
ยาสเตียรอยด์(Corticosteroids) เป็นยาที่ใช้ลดการอักเสบของข้อเข่าลดการอักเสบได้ดีแต่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น การติดเชื้อได้ง่าย หรือความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น เป็นต้น
ยาเสริมน้ำข้อเข่า: เช่น Glucosamine sulfate หรือ Chondroitin sulfate ที่รับประทานอย่างน้อย 6 เดือน อาจมีผลลดอาการปวดข้อเข่าได้
3. การทำกายภาพบำบัด
การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู อาการบาดเจ็บของข้อเข่าที่เกิดจากภาวะเสื่อม หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ด้วยเทคนิคการรักษาที่ออกแบบให้เหมาะสมเฉพาะบุคคลเพื่อจัดการและแก้ปัญหาโครงสร้างระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– คลื่นอัลตราซาวด์ความร้อนลึก (US: Ultrasound Therapy and Ultrasound Combined)
เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อให้ผลของความร้อนลึงลงสู่เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ
ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ เพิ่มความยืดหยุ่นและลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบๆข้อต่อ 
– คลื่นแสงเลเซอร์กำลังสูง (HPLT: High Power Laser Therapy)
ลดอาการปวด บวม และลดการอักเสบแบบฉับพลัน เร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ
– คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS: Peripheral Magnetic Stimulation)
กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงและฟื้นฟูเส้นประสาทให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
– คลื่นช็อคเวฟ (RSWT: Shock Wave Therapy)
คลื่นกระแทก กระตุ้นการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่
– การยืดเหยียดและออกกำลังกาย (Stretching and Exercise)
คลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่า เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าและต้นขา สอนท่าทางการออกกำลังกายที่สามารถนำไปทำเองได้ทุกวัน
4. โปรแกรมรักษา ฟื้นฟู ข้อเข่าเสื่อมแบบไม่ผ่าตัด หรือ Knee Cartilage Regeneration (KCR Program)
4.1 การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP: Platelet Rich Plasma)             
คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับการรักษาผิวข้อ ที่สกัดจากตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยประมาณ 20 ซีซี แล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นแยก
ด้วยความเร็วสูงเพื่อให้ได้เกล็ดเลือดที่เข้มข้นขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า แยกเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวออก
โดยภายในมี Growth Factor (โกรทแฟคเตอร์) กว่า 10 ชนิด ที่ช่วยในการลดปวด ซ่อมแซมผิวข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อที่มีการบาดเจ็บเรื้อรัง
ประโยชน์ของ PRP                                                                                                     
– กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ คอลลาเจน และกระตุ้นสเต็มเซลล์ในข้อเข่าให้ทำงานมากขึ้น                                                                          
 ลดการอักเสบของเซลล์
ข้อดีของ PRP
– ปลอดภัยเนื่องจากเป็นสารที่มาจากเลือดตัวเองแล้วฉีดกลับเข้าไป
– รวดเร็วในการรักษา ไม่ต้องพักฟื้น
– ไม่ต้องผ่าตัด
– ผลข้างเคียงน้อย โอกาสการแพ้น้อย
4.2 การรักษาด้วยการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าเทียม (HA: Hyaluronic Acid)
น้ำไขข้อ เป็นสารหล่อลื่นข้อ สามารถกำจัดสารอนุมูลอิสระภายในข้อและมีคุณสมบัติช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ โดยโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีภาวะน้ำไขข้อที่มีความหนืดและความยืดหยุ่นลดลงทำให้เสียคุณสมบัติที่ควรจะเป็น
ประโยชน์ของ (HA: Hyaluronic Acid)                                                                                                 
– ลดอาการปวดเข่า                                      
– ลดอาการอักเสบ
– ลดอาการฝืดขัดในเข่า
ข้อดีของ (HA: Hyaluronic Acid)
– ปลอดภัยเนื่องจากเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่ร่างกายผลิต
– ไม่ต้องเจาะเลือด
– ไม่ต้องผ่าตัด
– ผลข้างเคียงน้อย โอกาสการแพ้น้อย
4.3 การรักษาด้วยการฉีดสเต็มเซลล์ (MSCs: Mesenchymal Stem Cells)
Stem cell หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นเซลล์ที่ยังไม่แปรเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะ มีคุณสมบัติที่จะเเบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์ได้หลากหลาย      เเทบทุกชนิดในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงเปลี่ยนเป็นเซลล์กระดูกอ่อนที่บริเวณข้อเข่าได้ ซึ่งสเต็มเซลล์นั้นมีด้วยกันหลายชนิด โดยชนิดที่มีงานวิจัยนำมาใช้ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมอย่างได้ผลคือเซลล์ต้นกำเนิดชนิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (MSCs: Mesenchymal stem cells)
แหล่งที่มาของ Stem cell
– สายสะดือ (Umbilical Cord)
– เลือดจากรก (Cord Blood)
– ถุงน้ำคร่ำ (Amnion)
– ไขมัน (Adipose tissue)
– เลือด (Peripheral Blood)
– ไขกระดูก (Bone Marrow)
– รากฟัน (Tooth)
หน้าที่ของ Stem cell
– ช่วยในการซ่อมแซม ฟื้นฟูสภาพ และลดการตายของเซลล์ในอวัยวะนั้นๆที่เสื่อมสภาพหรือเสียหาย ทำให้อวัยวะนั้นสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ
– สามารถสร้างสารชีวภาพได้หลายๆ ชนิดซึ่งต้านการอักเสบ กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่มีอยู่ในร่างกายให้มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น
– ควบคุมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติ
การนำมาใช้ในโรคข้อเข่าเสื่อม
หลังปีค.ศ.2000 มีการวิจัยจำนวนมากขึ้นในเรื่องการใช้เซลล์บำบัดด้วยสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(MSCs) เพื่อใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
พบว่าสามารถลดการใช้ยาแก้ปวด เสริมผิวกระดูกอ่อนที่สึกกร่อนได้บางส่วน เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก และลดการผ่าตัดข้อเข่าได้
ข้อดีของการรักษาด้วย MSCs
– สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะเริ่มต้นถึงระยะปานกลาง ชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้
– ไม่ต้องผ่าตัด สะดวกรวดเร็วในการรับการรักษา
– ไม่ต้องพักฟื้น
– ผลข้างเคียงน้อย
– สามารถใช้ได้กับทุกคนโดยไม่ต้องตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (HLA matching)
ปริมาณที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
โดยปกติแพทย์จะฉีด MSCs เข้าข้อเข่าข้างละไม่เกิน 5 ล้านเซลล์ เนื่องจากเป็นปริมาณที่เพียงพอในการลดอาการปวดและชะลอการเสื่อมของข้อเข่าในระยะยาว หากใช้จำนวนมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังฉีดได้มาก  

แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็สามารถชะลอการเป็นโรคได้
รวมถึงในปัจจุบันก็มีแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลหลายวิธี
ดังนั้นใครที่้เริ่มมีความผิดปกติที่ข้อเข่า ควรให้ความสำคัญ
และเริ่มดูแลรักษาอาการตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีที่เริ่มมีอาการเจ็บปวด ใช้ชีวิตลำบาก
แนะนำควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
พร้อมวางแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความรุนแรง การลุกลาม
และลดความเจ็บปวดทรมาน ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *